บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศ ได้จัดงานสัมมนาระบบการเงิน ประจำปี 2554 ขึ้น ในหัวข้อเรื่อง “Financial Market Integration: A World of Opportunity, is Thailand Ready?”
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการสัมมนาเต็มวัน จัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ณ โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ในช่วงเวลา 8.30น. – 17.00 น.
โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้ง กลต. และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ กว่า 500 คน โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงวิสัยทัศน์และแนวคิดเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2015 ที่มีต่อระบบการชำระเงินและอุตสาหกรรมทางการเงิน
คุณธีระ อภัยวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติในช่วงเช้าจากนั้น ได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน
โดย ดร.สุรินทร์ ได้แสดงมุมมองของเลขาธิการอาเซียนในแง่ของโอกาสและความท้าทายของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียนในปี 2015 ที่จะมาถึง ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวและมีการเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น นักลงทุนจะต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน พัฒนาด้านการบริหารจัดการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เปลี่ยนทัศนคติให้กล้าที่จะก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อหาโอกาสมากขึ้น
เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะมีการเปิดเสรีทางด้านสินค้า บริการ ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งแรงงานฝีมือ ในหมู่ประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประเทศต่างๆ หรือเขตการค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ยุโรป ต่างให้ความสนใจในตลาดอาเซียนเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงภาครัฐว่าต้องแสวงหาแหล่งทุนให้กับภาคเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนไทยมีความแข็งแกร่งที่จะกล้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
ดร.ประสารไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “FinancialMarket Infrastructure:Competitivenessto AEC 2015 ” โดยท่านผู้ว่าการธปท. ได้แสดงมุมมองในภาพรวมเกี่ยวกับภาคการชำระเงินและภาคการเงินของไทยว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตลาดทุนก็จะต้องมีการพัฒนาเพื่อเอื้อต่อการระดมทุน และเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และท่านผู้ว่าการธปท.ได้กล่าวถึงบทบาทของธปท.ที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 นี้
ถัดมาในหัวข้อ"Integrated Capital Market: EXCHANGE Platform and Post-Trade Processing infrastructure” คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงปี 2015ว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่ง เนื่องจากอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ประเทศไทยควรจะได้ประโยชน์จากการขยายธุรกิจนี้อย่างมาก โดยคุณจรัมพรได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านระบบงานของตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้มีการปรับระบบงานเป็น Multi-Currency เพื่อให้รองรับการลงทุนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้นักลงทุนในแต่ละประเทศสามารถที่จะไปลงทุนกับประเทศสมาชิกได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้กับตลาดทุนอาเซียน และคุณจรัมพรได้เจาะลึกถึง Exchange Business Model และโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศด้วย
นอกจากนั้นในภาคเช้ายังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ รวมทั้งแสดงทัศนะและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนา
ดร. ฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการชำระเงิน ระดับเทียบเท่ารองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านได้พูดถึง แผนกลยุทธ์ด้านการพัฒนาระบบ Cross Border Paymentในการเตรียมความพร้อมสำหรับ AEC 2015 การเสริมสร้างศักยภาพ และการสนับสนุนด้านเทคนิคให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินในประเทศ
ถัดมาในหัวข้อ “Financial Market Integration: Challenge or Chance?” โดยคุณพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอผลงานการวิจัยเกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออยู่เข้าร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก
ปิดท้ายก่อนพักรับประทานอาหารกลางวันด้วยหัวข้อ “AEC 2015: Regulation and Legal Aspects”โดย ดร. นิ่มนวล ผิวทองงาม ผู้จัดการภาษี บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด
เข้าสู่ภาคบ่าย เป็นการเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็น ทัศนะมุมมอง และข้อเสนอแนะจากผู้มีความรู้ความสามารถในแวดวงการเงินการธนาคาร โดยเริ่มจากการเสวนาช่วงที่ 1 หัวข้อ “Open Financial Market: Can Thailand Compete?”โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด และธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ได้ร่วมกันแบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมทั้งวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ และแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการเงินและการธนาคาร รวมถึงการนำเสนอแนวทางสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
สำหรับการเสวนาช่วงที่ 2 ในหัวข้อ “Open Capital Market: Synergy Drive Force for Brokers and Banks” เป็นการเสวนาโดยตัวแทน
ผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ของประเทศไทยและต่างประเทศ
หลังจากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ “Swift Strategies & Solutions: Way to compete in AEC 2015” โดย Mr.Andrew Lai, Head Payment Market ,Infrastructures , SWIFT โดยได้อธิบายระบบ SWIFTNetซึ่งจะเป็น Solution ที่สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบการเงินภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ให้กับธนาคารสมาชิกและบริษัทหลักทรัพย์ที่อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ได้ทราบ และนำเสนอวิธีการประยุกต์ใช้งานระบบโดยใช้ประโยชน์จาก SWIFT Global Infrastructure และมาตรฐาน Financial Messaging รวมถึง Workflow Interoperability Services ซึ่งเป็นมาตรฐานและเครือข่ายที่มีธนาคารสมาชิกและสถาบันการเงินอื่นๆใช้อยู่แล้วทั่วโลก
ในการสัมมนาครั้งนี้ คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ ได้กล่าวสรุปเนื้อหาการสัมมนาตามหัวข้อต่างๆ ที่วิทยากรแต่ละท่านได้นำเสนอ แสดงความเห็นมุมมอง ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในยุคเศรษฐกิจไร้พรมแดน นับว่าเป็นโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป